จุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อจากเรื่อง ESG เราจะพามาถึงจุดเริ่มต้นแห่งมาตราการณ์ NET ZERO ซึ่งจะมาจาก ประเทศในสหภาพยุโรปหรือ อียู ลองไปหาอ่านกันต่อ
European Green Deal เรื่องที่ผู้ประกอบการ SME ไทยต้องรู้ เมื่ออียูให้ความสำคัญกับสินค้ารักสิ่งแวดล้อม
European Green Deal คืออะไร?
European Green Deal คือ แผนการปฏิรูปสีเขียวและมาตรการทางภาษีของสหภาพยุโรป (EU) โดยคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ออกแผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) เป็นแผนยุทธศาสตร์ ในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมบนพื้นฐานเศรษฐกิจที่ทันสมัยและใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลงร้อยละ 50 – 55 ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) และลดลงเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) โดย Green Deal จะให้ความสำคัญกับมาตรการทางภาษี เป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของ Green Deal โดยคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้มีแผนการทำงานเพื่อสนับสนุนซึ่งเป็นร่างกฎหมายเพื่อรับรองในเรื่องหลักๆ ดังนี้
1. การปรับปรุงสิทธิการซื้อขายและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
2. การส่งเสริมการคมนาคมสีเขียวทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ
3. การกำหนดอัตราภาษีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4. การกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน
5. การตั้งเป้าหมายการดูดซับก๊าซเรือนกระจก
6. การออกมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป คือการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป European Union (EU)
ทั้งนี้มาตรการ European Green Deal อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทย จึงเป็นความท้าทายที่ภาคส่งออกไทยต้องเตรียมการรับมือนโยบายและมาตรการ European Green Deal โดยการเปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส
โอกาสในวิกฤต ปรับลดภาษีเหลือ 5% หนุนสินค้ารักษ์โลก
ปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ขั้นต่ำในสหภาพยุโรปอยู่ที่ 15% จากนโยบายที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ตกลงร่วมกันปรับลดภาษีลงเหลือ 5% ให้กับสินค้าและบริการในสหภาพยุโรปที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อส่งเสริมและเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน ซึ่งนอกจากยังปรับลดภาษีสินค้าและบริการที่ส่งเสริมการรักษาสุขภาพและสินค้าและบริการที่ปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มใช้อัตราภาษีใหม่ได้ หลังจากที่สภายุโรปให้ความเห็นชอบ
ขณะที่ประเทศสมาชิกสามารถลดอัตราภาษีมากกว่านี้ แต่ต้องอยู่ภายใต้หมวดสินค้าและบริการที่กำหนด และไม่กระทบกับแผน European Green Deal ซึ่งสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อมที่จะได้รับการปรับลดภาษี ได้แก่ จักรยาน, จักรยานไฟฟ้า และบริการที่เกี่ยวข้อง ระบบทำความร้อน, ความเย็น พลังงานไฟฟ้าและก๊าซชีวมวลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในบ้านและอาคาร
นอกจากนี้ยังมีการทำข้อตกลงเพื่อยกเลิกการจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำสำหรับสินค้าปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง ซึ่งจะเริ่มในปี 2032 เพื่อให้เกษตรกรได้ปรับตัว สำหรับสินค้าด้านสุขอนามัย ที่จะได้รับการปรับลดภาษี ได้แก่ เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย และสินค้าที่จำเป็นสำหรับผู้พิการ เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการด้านการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่จะได้รับการปรับลดภาษี ได้แก่ การให้บริการอินเทอร์เน็ต รวมถึงบริการสื่อถ่ายทอดสด (Live Streaming) สำหรับการจัดงานกีฬาและวัฒนธรรม เป็นต้น
ขณะที่ผลสำรวจประชาชนในสหภาพยุโรป เรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่กังวลเรื่องสารปนเปื้อนในอาหารมากที่สุด เช่น ยาปฏิชีวนะ สเตียรอยด์ในเนื้อสัตว์ ยาฆ่าแมลง สารเคมีที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และสารเจือปน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเทรนด์ ‘อาหารเพื่อสุขภาพ’ ในยุโรปกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้ EU เข้มงวดกับมาตรการด้านความปลอดภัยของอาหารเพิ่มมากขึ้น จึงออกยุทธศาสตร์ ‘Farm to Fork Strategy’ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย European Green Deal ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการปลูก การแปรรูป การบริโภคจนถึงการกำจัดขยะอาหาร โดยมีเป้าหมายที่จะลดการใช้สารเคมี และส่งเสริมฟาร์มออร์แกนิกมากขึ้น
ทั้งนี้จากมาตรการดังกล่าวของ EU จะผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยปฏิบัติได้ตามยุทธศาสตร์ของ EU เนื่องจากสหภาพยุโรปอาจเป็นตลาดผู้บริโภคที่สำคัญของไทยในอนาคต ดังนั้น ‘Farm to Fork Strategy’ จะส่งผลกระทบต่อไทยในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยตั้งเป้าหมายลดการใช้ยาฆ่าแมลงและวัชพืช รวมทั้งยาต้านจุลชีพในสัตว์ลง 50% ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง 20% และเพิ่มฟาร์มออร์แกนิกให้มีสัดส่วนคิดเป็น 25% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในยุโรป ภายในปี ค.ศ. 2030 ส่งผลต่อการออกกฎหมายของไทยที่ ห้ามการใช้สารกำจัดวัชพืชพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ทำให้ผู้ประกอบการไทยหันมาปลูกผักอินทรีย์ ผลิตอาหารจากวัตถุดิบอินทรีย์และส่งออกสินค้าที่เป็นออร์แกนิกมากขึ้น
2. ลดการบริโภคเนื้อแดง เป้าหมายคือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ให้ลดการบริโภคเนื้อแดง – เนื้อแปรรูป หันมารับประทานอาหารที่ผลิตจากพืช และอาหารจากแมลงเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ อาทิ จิ้งหรีด ตั๊กแตน หนอน ซึ่งปัจจุบันชาวยุโรปนิยมรับประทานมากขึ้น เนื่องจากมีผลวิจัยชี้ว่าเป็นแหล่งโปรตีนสูงไม่ต่างจากเนื้อสัตว์และสร้างมลภาวะน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ SME ไทยที่จะเติบโตได้อีกมากในตลาด EU เนื่องด้วยสหภาพยุโรปเป็นกลุ่มนำเข้าสินค้าอาหารจำนวนมากนั่นเอง
3. การผลิตอาหารปลอดสาร จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้อียูตระหนักถึงการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร นวัตกรรมในการผลิตอาหารและอาหารสำเร็จรูป ให้สอดรับกับข้อกำหนดของ EU และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เลิกใช้สารที่จะทำให้เกิดสารตกค้างในอาหาร
สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้สินค้าพลังงานทดแทนและสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกไทย ส่วนผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกสินค้าอาหารมายังตลาดยุโรป ควรเร่งปรับตัวและพัฒนาสินค้าให้ตรงตามที่ EU กำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น สินค้าปลอดสารพิษ สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่ได้รับการรับรองการค้าที่เป็นธรรม เป็นต้น โดยต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยของสินค้าอาหาร และผลิตสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค EU
ที่มา https://www.bangkokbanksme.com/en/european-green-deal-thai-sme-must-know