หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตรพระราชทานแก่สังคมไทยตั้งแต่พุทธศักราช 2517 หลักสำคัญของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นหลักการที่มุ่ง “ความสุข” และ “ประโยชน์สุข” ของประชาชน และสังคม
ความสุข เป็นสภาวะทางจิตใจที่เป็นบวก เป็นผลมาจากทั้งปัจจัยภายนอก คือ สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม และปัจจัยภายในคือ ระดับสติปัญญา วิธีคิด หลักคุณธรรมจริยธรรม ของบุคคลนั้น ประโยชน์สุข คือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและนำมาซึ่งความสุข สงบ และเจริญก้าวหน้าของสังคม
การจะบรรลุสู่ความสุขและประโยชน์สุข คือมิติต่าง ๆ ของชีวิตและสังคมมีความสุข สงบและสมดุล และพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง มิติที่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญคือ มิติสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม
การจะเกิดความสมดุลและพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ข้างต้นได้ กระบวนการตัดสินใจควรอยู่บนพื้นฐานของหลักการ 3 ประการและเงื่อนไข 2 ประการ ประกอบด้วย
1.ความมีเหตุผล คือ ในการดำเนินการใด ๆ ต้องมองเห็นทางเลือกที่เกี่ยวข้อง เห็นเหตุและผล และผลกระทบทั้งทางบวกและลบของทางเลือกต่างๆ เห็นผลที่เป็นคุณค่าแท้ของการดำเนินการนั้น ๆ
2. ความพอประมาณ คือ การดำเนินการควรต้องใช้ทรัพยากรและดำเนินการในระดับที่พอดีเหมาะสมกับเงื่อนไขที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายในแบบที่ประหยัดไม่เกิดของเสียโดยไม่จำเป็น
3. มีภูมิคุ้มกัน คือ มีการพิจารณาถึงแผนสำรอง รองรับการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง
เงื่อนไข 2 ประการ คือ
1.เงื่อนไขความรู้ คือ ต้องมีทั้งองค์ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องและมีสติปัญญาที่จะพิจารณาว่าสิ่งที่เลือกจะนำไปสู่ความสุขและประโยชน์สุขหรือไม่
2.เงื่อนไขคุณธรรม คือ อยู่บนฐานของหลักคุณธรรมและศีลธรรมอันดีของสังคม ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อคนอื่นหรือสิ่งแวดล้อม
ที่มา: cse.nida.ac.th
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่นำเสนอโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) มีระยะเวลา 15 ปี เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 2559 – 2573 โดยประเทศสมาชิก 193 ประเทศ ได้ลงนามรับรองวาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030) ในวันที่ 25 กันยายน 2558 เป้าหมาย SDGs มีทั้งหมด 17 ข้อ ครอบคลุมมิติสังคม (People) เศรษฐกิจ (Prosperity) สิ่งแวดล้อม (Planet) สันติภาพ (Peace) และหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ซึ่งสอดคล้องกับสามเสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability) คือ ด้านสังคม (People) สิ่งแวดล้อม (Planet) และ Profit (ผลกำไร) จุดเน้นที่สำคัญของเป้าหมาย SDGs คือ การมุ่งที่จะกำจัดความยากจนในทุกมิติ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้โลกยังเป็นระบบสนับสนุนสิ่งมีชีวิตได้อยู่
หลักการที่เป็นพื้นฐานของ SDGs ที่สำคัญคือหลักการพัฒนาที่ครอบคลุม (Inclusive Development) และหลักการพัฒนาอย่างบูรณาการ (Integrated Development) หลักการพัฒนาที่ครอบคลุม (Inclusive Development) คือ การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มุ่งให้ผลประโยชน์ของการพัฒนากระจายไปยังกลุ่มคนทุกกลุ่มในสังคม คนเปราะบางและด้อยอากาศกลุ่มต่าง ๆ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะและโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ดี ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน การพัฒนาอย่างบูรณาการ (Integrated Development) จึงเป็นหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่ง หมายถึง ในการบรรลุเป้าหมาย SDGs จำเป็นต้องใช้ศาสตร์หลายศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจและหาหนทางเพื่อบรรลุความยั่งยืน และต้องการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
ความเชื่อมโยงระหว่างหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) อย่างกลมกลืน เพราะมีเป้าหมายปลายทางที่สอดคล้องกัน กล่าวคือ ทั้ง SEP และ SDGs ต่างมุ่งพัฒนาและสร้างความสมดุลในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ส่วนที่เหลื่อมกันอยู่แต่ไม่ขัดกันก็คือ SEP เน้นมิติวัฒนธรรมด้วย ขณะที่ใน SDGs มิติวัฒนธรรมแฝงอยู่ในหลายเป้าหมาย และมีส่วนของสันติภาพและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเพิ่มเข้ามา
ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาก็มีปรากฏอยู่ในการประยุกต์ใช้ SEP ในภาคเกษตร คือ เกษตรทฤษฎีใหม่ ในระยะที่ 3 หลังจากชุมชนมีความเข้มแข็งแล้วจึงขยายความร่วมมือมายังองค์กรภายนอกชุมชน ซึ่งในส่วนนี้ SDGs จะมีความชัดเจนกว่า SEP ในแง่ที่ว่า SDGs ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างชัดเจนในรายละเอียดของเป้าหมาย (Goals) 17 ประการ และเป้าประสงค์ (Targets) 169 ประการ
นอกจากนี้ SEP ยังช่วยเสริม SDGs ให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นไปอีกเพราะ SEP ให้หลักการในการดำเนินการเพื่อการบรรลุ SDGs ด้วย โดย SEP ให้หลักในการดำเนินการเอาไว้ว่า
(1) การดำเนินการใด ๆ เพื่อบรรลุ SDGs ต้องอาศัยองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง และคำนึงมิให้มีผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (เงื่อนไขความรู้ และคุณธรรม)
(2) การดำเนินการต้องพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ให้รอบด้าน เห็นเหตุ เห็นผลผลิต ผลลัพธ์และผลกระทบของแต่ละทางเลือก (หลักความมีเหตุผล)
(3) การดำเนินการควรใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพให้พอดีกับการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ไม่เกิดของเหลือ เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในครัวเรือนหรือในชุมชนอยู่ก่อนที่จะขยายไปพึ่งพาภายนอก (หลักความพอประมาณ)
(4) การดำเนินการควรเตรียมการเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ (หลักภูมิคุ้มกัน)
(5) การดำเนินการจะบรรลุผลได้หากเริ่มจากการระเบิดจากข้างใน เริ่มจากท้องถิ่นซึ่งในการเริ่มดำเนินการจากท้องถิ่นได้นั้นจะต้องไม่ละเลยมิติวัฒนธรรมท้องถิ่นที่จะช่วยเชื่อมโยงคนในท้องถิ่นกับการพัฒนาได้
ยิ่งไปกว่านั้น SEP ยังช่วยกำหนดเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ด้วย คือ การพัฒนาที่สุดท้ายต้องมุ่ง “ความสุข” และ “ประโยชน์สุข” ของสังคม ซึ่งหลักคิดนี้จะช่วยให้การพัฒนาที่เกิดขึ้นมิได้เกิดขึ้นแบบเพียงแค่ให้มี แต่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความสุขและประโยชน์สุขของสังคมด้วย